ชีวิตก่อนความตาย…จบกฎหมายแล้วไปไหน ตอนที่ 3 “ปริญญาโท”

อันเนื่องมาจากการประสบความสำเร็จของระบบการศึกษาไทยและนโยบายรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย

เด็กไทยต้องได้เรียนฟรี 12 ปี และต้องจบปริญญาตรี (ซึ่งป่านนี้ก็ยังทำไม่ได้จริง) ทำให้การศึกษาระดับปริญญาตรี กลายเป็นเหมือนโทรศัพท์มือถือที่เกือบทุกคนต้องมี บางคนมีไม่ต่ำกว่าหนึ่งเครื่อง

ราคาค่าตอบแทนของการจบปริญญาตรีเป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ ยิ่งมีมาก ยิ่งราคาถูกลง

จบปริญญาตรี ม. ดัง จะได้เป็นโทรศัพท์ระบบจาวา หรือ symbian

จบปริญญา ม. ไม่ดัง อาจถูกตราหน้าว่าเป็นมือถือจอขาวดำ หรือจอสีแบบต๊อกต๋อย

ทำยังไงจะได้เป็น smartphone iphone หรือ blackberry

ปริญญาตรีอาจจะไม่พอเสียแล้ว

ในเส้นทางของนักกฎหมายปริญญาโท เหมือนเป็นพัสตราภรณ์ที่ทำให้เราดูมีคุณวุฒิเหนือกว่าคนอื่นๆ แม้ว่าสิ่งที่เราเรียนมาจะไม่ได้ใช้ก็ตาม

เหมือนเป็น “เสื้อหนังพร้อมบั้งติดไหล่” แสดงแสนยานุภาพว่าได้ผ่านการศึกษามาอย่างโชกโชน คงจะพอให้สัตว์โลกเล็กๆบางตัวรู้สึกกลัวคุณได้ แต่ไม่อาจการันตีว่าคุณจะไม่ถูกเสือกิน

โรงงานผลิต “เสื้อหนัง” ถูกตั้งขึ้นมาเป็นดอกเห็ด เพื่อแย่งชิงลูกค้าในป่าที่กำลังเติบโต บางแห่งมีสโลแกนลับๆ ว่า “จ่ายครบ จบแน่” แต่บางแห่ง “แม้จ่ายครบ จะจบหรือไม่จบก็ยังไม่แน่ แต่ถ้าจ่ายไม่ครบ คงไม่จบแน่ๆ”

นี่คือความหลากหลายของการศึกษา โปรดอย่าได้ถามหามาตรฐาน

วงการการศึกษาไทยยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง

เมื่อ “ปริญญาโท” เริ่มกลายเป็น “สินค้า” ที่เลือกหามาเพื่อให้ผู้สวมใส่รู้สึกว่า “เหนือ” กว่าคนอื่น เท่านั้น

ย่อมซ้ำเติมความสำเร็จของการศึกษาไทยไปได้อีกขั้น

หลายคนจบปริญญาตรีปั๊บ เตรียมหาโรงงานผลิตเสื้อหนังทันที
เสื้อหนังมีให้เลือกหลายชนิด หลายราคา ถ้ายังไม่ได้คิด เอาเสื้อที่ใส่แล้วดูดีไว้ก่อน “เรียนภาษีดีกว่า ท่าจะได้ตังค์เยอะ” “เรียนอาญาดีกว่า เก็บวิชา กต.” “เรียนธุรกิจดีกว่า ข้าจะไปอยู่ law firm”
เราเลือกด้วยความรู้สึกจนลืมคำถามที่ว่า “เราเรียนปริญญาโทไปทำไม (วะ) ?”
ปริญญาโทเป็นการศึกษาชั้นสูง ในมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง เรียกต่อท้ายวิชาในระดับปริญญาโทด้วยคำว่า “ชั้นสูง” การเรียนปริญญาโทเป็นการเรียนลงไปให้ลึกซึ้งในวิชานั้นๆ เรียนว่ากฎหมายนั้นดีหรือไม่ มีข้อบกพร่องอย่างไร

หากการเรียนกฎหมายในระดับปริญญาตรีคือเรียนเพื่อ “ใช้” ปริญญาโทก็คือการเรียนไปเพื่อ “พัฒนา”
“พัฒนา” ย่อมหมายถึงเรียนไปเพื่อพัฒนากฎหมาย แต่เรากำลังเรียนมันไปเพื่อพัฒนาฐานะทางสังคมของตนเอง

บางคนนั่งทนทุกข์ทรมานกับการเรียน บางคนเรียนปริญญาโทเหมือนเรียนปริญญาตรี คิดอะไรต่อยอดเองไม่ได้

ถ้าคำถามเป็นปลายเปิด หรือให้อธิบายความเห็น จะง่อยรับประทานทันที

ทำข้อสอบไม่ได้ ออกจากห้องสอบมา ด่าว่าอาจารย์ไม่เคยสอน

วิชาเลือก ไม่ชอบไม่เป็นไร ขอให้ ก.ต. ชอบก็พอ

หลังจากเรียนจบคอร์สเวิร์ค ก็ต้องมานั่งใช้จินตนาการระดับสูง ว่าจะทำวิทยานิพนธ์หรือสารนิพนธ์เรื่องอะไร เลือกเรื่องได้ก็ต้องไปหาว่ามีคนเคยทำหรือยัง ถ้ามีคนทำแล้ว ก็ไปด่าแม่มันว่า “ทำทีสิสประสาอะไรไม่เหลือช่องให้กูเล่นต่อเลย”  สุดท้าย…เลือกหัวข้ออะไรก็ได้ แม้ทำแล้วไม่ได้ใช้ ขอแค่ยังไม่มีคนทำ

หลัง จากได้หัวข้อ ก็ต้องไปตามล่าหาอาจารย์ ยิ่งกว่าบ้าดาราเกาหลี โทรหาอาจารย์ที่ปรึกษายิ่งกว่าโทรหาแฟน ติดต่อไม่ได้ก็กังวลจะเป็นจะตายบางคนทิ้งหน้าที่การงานออกมา เพื่อล่าเสื้อหนังตัวนี้

หลายคนไม่อยากอยู่ในวังวนเหล่านี้ หนีไปเรียนโทนอกสองปี ได้เสื้อหนังของฝรั่งมังค่า ประมาณว่าขอใช้งบประมาณ…แทนการทรมาน…แต่สุดท้ายก็รู้ว่าการเรียนเมืองนอกมันก็ทรมานไม่แพ้กัน

สุดท้ายตอนเป็นผู้พิพากษา…ก็ต้องกลับมาใช้กฎหมายไทย

ปริญญาโทมีความสำคัญยังไง ข้าราชการไทยตอบท่านได้

อัตราเงินเดือนข้าราชการตอนนี้ ปริญญาตรี 8,700 ปริญญาโท 12,000 บาท ไม่ต้องห่วงเรื่องความเสมอภาค ไม่ว่าท่านจะจบอะไร ท่านมีสิทธิได้รับงานในอัตราเท่าเทียมกัน เพราะมันเป็นงานที่ใช้วุฒิปริญญาตรีก็พอแล้ว

แต่ให้เงินเดือนเท่ากันไม่ได้จริงๆ บังเอิญว่าเรียนปริญญาโทมันต้องใช้เงินมากกว่า บางคนจบเมืองนอกเมืองนา เสียเงินเป็นล้าน องค์กรของเราต้องการคนจบปริญญาโท แม้ว่าเราจะไม่ได้ใช้ แต่มีไว้มันก็เท่ดี

วงการผู้พิพากษา อัยการ ถ้าท่านจบปริญญาโท เราจะให้สิทธิพิเศษท่านในการสอบสนามเล็ก ถ้าท่านมีเงิน และมีปัญญาเรียนจนได้ปริญญาโท เราจะให้คนที่จบปริญญาโทเหมือนท่านมาสอบแข่งกันเท่านั้น ท่านไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับคนที่จบแค่ปริญญาตรี แม้ความรู้ที่เราใช้วัดท่านตอนเข้าจะเป็นความรู้ในชั้นเนติบัณฑิตก็ตาม  ท่านเป็นผู้มีวิชาแก่กล้า สามารถเรียนจบปริญญาโทมาได้ ยิ่งถ้าท่านจบปริญญาโทเมืองนอกมาสองใบ ท่านจะได้รับสิทธิสอบสนามที่เล็กลงกว่านั้นอีก

เราไม่อาจปล่อยให้ท่านไปแข่งกับคนจบปริญญาตรีได้จริงๆ เรากลัวว่าท่านจะอาย ถ้าคนจบปริญญาตรีสอบได้ แต่ท่านสอบไม่ได้  ท่านไม่จำเป็นต้องผ่านงานสองปีเหมือนคนจบปริญญาตรี ทำงานปีเดียวก็พอ  เราเชื่อมั่นว่า คนที่จบปริญญาโท จะมีไหวพริบปฏิภาณ โดนทนายเขี้ยวๆ ปั่นหัวไม่นานท่านก็อาจจะเข้าใจโลกได้ แม้ท่านจะอยู่กับตำรามาตลอดชีวิตของท่านก็ตาม และไม่ต้องห่วงว่าท่านจะต้องทำงานหนักกว่า เพราะในโลกของความยุติธรรมแห่งนี้ ท่านจะได้ทำงานไม่ต่างจากผู้พิพากษาที่จบปริญญาตรี

“เสื้อหนัง” ตัวนี้มีความจำเป็นจริงๆ สำหรับคนที่จะเป็นอาจารย์หรือผู้ที่ต้องทำงานทางวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มักเปิดรับอาจารย์ที่จบปริญญาโท (มีแต่เพียงบางแห่งที่รับปริญญาตรีเกียรตินิยม) เพราะมันคือความ “รอบรู้” และ “ลุ่มลึก” ในสาขาที่ “เลือกแล้ว” และสามารถถ่ายทอดออกมาได้ อย่างน้อยก็ในรูปแบบตัวหนังสือ (ไม่แปลกที่อาจารย์ที่จบสูงๆบางคนพูดจาไม่รู้เรื่อง)

หากใครคิดที่จะเรียนปริญญาโทต่อไป ให้คิดว่าเหมือนกำลังจะลงหลักปักฐานกับใครสักคน

คำถามแรก”รักเขาไหม”

คำถามต่อๆไป “พร้อมหรือไม่” “เข้ากันได้หรือเปล่า” ” ‘เอา’ ไปทำอะไร”

เพราะการเพิ่มอีกระดับของ “ปริญญา” บางครั้งก็ไม่ต่างกับการมี “ภรรยา” (หรือสามี) เราคงไม่อยากให้มีการ “หย่า” เกิดขึ้นมาระหว่างทาง

และการอยู่เป็นโสดก็ไม่ใช่เรื่องผิด

เพราะ “การไม่ต้องทำทีสิสเป็นลาภอันประเสริฐ”

Leave a comment